
ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึง การที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชา พระยาแถน หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่ง ชาวบ้านมีความเชื่อว่า พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้ ช่วงเวลาของประเพณีบุญบั้งไฟคือเดือนหกหรือพฤษภาคมของทุกปี
ประเพณีบุญบั้งไฟมีมาแต่ครั้งไหนยังหาหลักฐานที่แน่ชัด มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆ ไว้ดังนี้
ความเชื่อกับประเพณีบุญบั้งไฟ
ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ โลกเทวดา และโลกเทวดา มนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน นอกจากนี้ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ เรื่องพญาคันคาก หรือคางคก พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์

ความหมายของบั้งไฟ
คำว่า “บั้งไฟ” ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า “บ้องไฟ” แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า”บั้งไฟ”ดังที่ เจริญชัย ดงไพโรจน์ ได้อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสองไว้ว่า บั้งหมายถึง สิ่งที่เป็นกระบอก เช่น บั้งทิง สำหรับใส่น้ำดื่ม หรือบั้งข้าวหลาม เป็นต้น
ส่วนคำว่า บ้อง หมายถึง สิ่งของใดๆ ก็ได้ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้ากันได้ ส่วนนอกเรียกว่า บ้อง ส่วนในหรือสิ่งที่เอาไปสอดใสจะเป็นสิ่งใดก็ได้ เช่น บ้องมีด บ้องขวาน บ้องเสียม บ้องวัว บ้องควาย ดังนั้น คำว่า บั้งไฟ ในภาษาถิ่นอีสานจึงเรียกว่า บั้งไฟ ซึ่งหมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื่อ (ดินปืน) และเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน เรียกว่า “บั้งไฟ” ในทัศนะของผู้วิจัย บั้งไฟ คือการนำเอากระบอกไม้ไผ่ เลาเหล็ก ท่อเอสลอน หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ช่างกำหนดไว้แล้วประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่างๆ ตามที่ต้องการ เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง บั้งไฟมีหลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย

การเล่นพนันบั้งไฟ
การเล่นพนันบังไฟนันเป็นที่นิยมไม่แพ้กับการเล่นพนันมวยและฟุตบอลเลย บั้งไฟในยุคต้นๆ ตัวบั้งไฟหรือเลาบั้งไฟทำจากกระบอกไม้ไผ่ ต่อมาทำจากท่อเหล็ก และปัจจุบันเลาบั้งไฟทำจากท่อพีวีซี โดยมีกระบวนการผลิตพัฒนาควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงเลาบั้งไฟ เช่น การบรรจุดินปืนเข้าเลาบั้งไฟ ซึ่งมีเริ่มจากการตำด้วยแรงคน พัฒนาเป็นการบดอัดด้วยแรง จนกระทั่งอัดด้วยแรงไฮดรอลิก ด้านฐานจุด ในอดีต ทั้งฐานบั้งไฟเล็กและบั้งไฟใหญ่เป็นฐานไม้ เรียกว่า ค้างบั้งไฟ หรือฮ้าน (ร้าน) บั้งไฟ แต่ปัจจุบัน ฐานบั้งไฟเล็กเปลี่ยนมาเป็นเหล็ก เรียกว่า ฐานจุดบั้งไฟ ซึ่งสามารถจุดพร้อมกันทีเดียวได้นับสิบบั้ง ส่านฐานจุดบั้งไฟใหญ่ใช้ทั้งฐานไม้และฐานที่ทำจากเสาไฟฟ้า โดยทั่วไปฐานจุดบั้งไฟมักมีทั้งสองประเภทควบคู่กัน ทั้งนี้ เพื่อให้เอื้อให้การพนันบั้งไฟทำได้มากและถี่ขึ้น เป็นต้น
บั้งไฟมีกี่ประเภท
บั้งไฟที่ใช้เล่นในปัจจุบัน จำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) บั้งไฟเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเลาบั้งไฟ 1-3 นิ้ว 2) บั้งไฟใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว เรียกว่า บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน และ 3) บั้งไฟพิเศษ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้วขึ้นไป เรียกว่า บั้งไฟล้าน และบั้งไฟกือ (สิบล้าน) การแข่งขันบั้งไฟไม่มีในกฎหมาย ในทางปฏิบัติ หมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟ และเป็นสนามแข่งขันบั้งไฟ ต้องทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อนำผลการประชาคมให้คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือผู้จัด หรือผู้รับเหมาจัดงาน ใช้ประกอบในการขออนุญาตต่อฝ่ายปกครองและตำรวจ การเล่นพนันบั้งไฟ ปัจจุบันกติกาการพนันบั้งไฟใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยระยะเวลาที่บั้งไฟลอยอยู่ในอากาศ การพนันบั้งไฟเล็ก เริ่มด้วย “การเปิดราคาหน้าฐาน” คือ การกำหนดตัวเลขของระยะเวลาที่คาดว่าบั้งไฟจะขึ้นได้สูงสุด กำหนดโดยผู้จัดและนักพนันที่เรียกว่า “เซียนยั้ง” ซึ่งราคาหน้าฐานของบั้งไฟเล็กมีราคาเดียวทั้งสนาม ส่วนการพนันบั้งไฟใหญ่ ไม่มีการเปิดราคาหน้าฐาน โดยผู้จัด แต่คู่พนันจะตกลงกันเอง โดยผู้เปิดราคาหน้าฐาน เรียกว่า เซียนยั้ง ส่วนผู้รับเล่นพนันด้วย เรียกว่า “เซียนไล่” เช่น ราคาเปิดหน้าฐานอยู่ที่ 290 วินาที ถ้าบั้งไฟทำเวลาได้ 290 วินาทีหรือต่ำกว่า ถือว่าเซียนยั้งได้พนัน แต่ถ้าบั้งไปทำเวลาได้มากกว่า 290 วินาทีขึ้นไป ถือว่าเซียนไล่ได้พนัน เงินเดิมพัน หรือเงินพนันที่ตกลงเล่นพนันไม่มีการต่อรองเพื่อลดหรือเพิ่มจำนวนเงิน ทั้งเซียนยั้งและเซียนไล่จะลงเงินพนันในจำนวนเท่ากัน เช่น เซียนยั้งตั้งเงินพนันอยู่ที่ 10,000 บาท ถ้าเซียนไล่จะเล่นพนันด้วย ต้องลงเงินจำนวนเท่ากัน คือ 10,000 บาท โดยเซียนไล่ต้องนำเงินเดิมพันมอบไว้กับเซียนยั้งเป็นผู้รักษา ถ้าบั้งไฟ “ผ่าน” หมายถึง ทำเวลาได้เกินกำหนดที่เซียนยั้งตั้งไว้ เซียนยั้งก็จะต้องจ่ายให้เซียนไล่ 20,000 บาท กล่าวคือ รวมทั้งเงิน 10,000 บาทที่เซียนไล่มอบไว้ก่อนหน้านั้นด้วย

บ่อนการพนันบุญบั้งไฟมีแบบไหนบ้าง
บ่อนการพนันบั้งไฟมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ บ่อนบุญหรือบ่อนในเทศกาล หมายถึง บ่อนที่เปิดเล่นพนันในเดือน 6 รวมทั้งเดือนก่อนหน้าและหลัง คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม และบ่อนอาชีพหรือบ่อนนอกเทศกาล ซึ่งเปิดเล่นการพนัน และพนันออนไลน์ตลอดทั้งปี
ส่วนผู้จัดให้มีการเล่นพนันบั้งไฟ หรือโปรโมเตอร์ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ผู้จัดประเภทบุคคลภายนอกที่เข้าไปเหมาบุญ และผู้จัดที่เป็นบุคคลภายในในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน
ด้านต้นทุนและรายได้ในการดำเนินการตามประเภทของผู้จัด ตามประเภทของบ่อน และตามเขตพื้นที่ พบว่า ต้นทุนสำหรับผู้จัดระดับหมู่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน มักมีภาระต้นทุนต้องใช้จ่ายในด้านพิธีกรรมและมหรสพเพิ่มเข้าเป็นต้นทุน และค่าจ้างทีมเรดาร์ หรือผู้จับเวลา และเงินรางวัลบั้งไฟ ส่วนต้นทุนของผู้จัดประเภทผู้รับเหมาบุญ คือ เงินใต้โต๊ะที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจ ตั้งแต่ระดับอำเภอและระดับที่สูงกว่า
ด้านรายได้ของผู้จัด รายได้ของผู้จัดใน 2 เขตไม่เท่ากัน โดยรายได้ของผู้จัดในเขตอีสานใต้ได้มากกว่าผู้จัดในเขตอีสานเหนือ เนื่องจากสนามในเขตอีสานใต้มีขนาดที่ใหญ่กว่า คือ มีพื้นที่กว้างขวาง มีจำนวนนักพนันมากกว่า และเงินพนันมากกว่า
ด้านประมาณการวงเงินพนัน พบว่า ประมาณการวงเงินพนันบั้งไฟทั้งภาคอีสานในรอบ 1 ปี อยู่ที่ 56,529,400,000 บาท ในเขตอีสานเหนือ 14,409,500,000 บาท จำแนกเป็น ในเทศกาล (เมษายน–กรกฎาคม) รวม 122 วัน มีวงเงินพนัน 7,515,200,000 บาท นอกเทศกาล ประมาณ 227 วัน วงเงินพนัน 6,832,700,000 บาท และเขตอีสานใต้ มีเพียงในเทศกาล (เมษายน-กรกฎาคม) 122 วัน ประมาณการวงเงินพนันอยู่ที่ 42,181,500,000 บาท
ผลกระทบจากการเล่นพนันในบุญบั้งไฟ
การเล่นพนันบั้งไฟมีทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ ผลกระทบทางบวก เป็นการสร้างอาชีพ และเป็นแหล่งรายได้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของค่ายบั้งไฟ กลุ่มธุรกิจที่ประดิษฐ์อุปกรณ์ในการทำบั้งไฟ ส่วนผลกระทบด้านลบ ได้แก่ ทำให้เกิดแหล่งอบายมุข เกิดนักพนันหน้าใหม่ เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม เช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการขายตัว สร้างทัศนคติเห็นแก่เงินแก่ชุมชน เกิดความเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ ที่สำคัญ การทำบุญบั้งไฟกลายเป็นการทำลายประเพณีเสียเอง